"หลอดลมอักเสบ" ในเด็ก

โรคหลอดลมอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจที่สำคัญ และพบได้บ่อยโรคหนึ่งในเด็ก

 

อาการแสดงที่สำคัญ คือ ไอ อาจแบ่งลักษณะอาการ คือ 1.หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เด็กจะมีอาการไอและจะมีเสมหะร่วมด้วย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียก็ได้ ถ้าลักษณะเสมหะมีสีขุ่น เหลืองหรือเขียว แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย อาการไข้ อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการก็จะดีขึ้นและหายภายในไม่เกินใน 1-2 สัปดาห์ 2.หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เด็กจะมีอาการไอเรื้อรัง เป็นอยู่นานเป็นอาทิตย์ หรือเป็นเดือนๆ และมักจะมีเสมหะร่วมด้วย

 

ซึ่งอาจจะมีสาเหตุได้ต่างๆ ดังนี้ คือ 2.1.เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทั่วไป เช่น วัณโรค โรคไอกรน หรือเชื้อไมโครพลาสมา 2.2.เกิดจากการอุดกลั้นทางเดินลมหายใจบางส่วน เช่น มีต่อมน้ำเหลืองมากดหรือมีความผิดปกติของหลอดลมมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้เกิดการสำลักได้ง่าย และทำให้มีการอักเสบของหลอดลม 2.3.เด็กอาจจะมีการสำลักเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหลอดลม เช่น เมล็ดผลไม้ 2.4.เกิดจากโรคภูมิแพ้ เด็กมักจะมีอาการไอเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ในเวลากลางคืน หรือเช้ามืด และภายหลังการออกกำลังกายหรือเล่นมากๆ จะไอมีเสมหะหรือไอมากจนอาเจียน เสมหะมักจะใส และมักจะไม่มีไข้ รวมทั้งอาจจะมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว เด็กในกลุ่มนี้จะมีอาการไอเกิดเนื่องจากมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม 2.5.ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ทำให้มีน้ำมูกไหลลงคออยู่บ่อยๆ ทำให้กระตุ้นให้เกิดอาการไอ

 

การรักษา คือ 1.การใช้ยาปฏิชีวนะในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย 2.ยาแก้ไอในเด็กที่ควรใช้และมีประโยชน์ คือ ยาที่จะทำให้เด็กสามารถไอ และขับเสมหะออกได้ดี ได้แก่ ยาจำพวกขยายหลอดลม ยาขับเสมหะ และยาละลายเสมหะ ซึ่งมีขายกันอย่างแพร่หลายในท้องตลาด ซึ่งแตกต่างกันทั้งรสชาติ ราคาและประสิทธิภาพ สำหรับยาจำพวกกดอาการไอนั้นไม่ควรใช้เลย เพราะจะทำให้มีเสมหะค้างในปอด ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปอดแฟบ หรือปอดอักเสบ 3.ควรให้เด็กดื่มน้ำมากๆ

 

แหล่งที่มาอ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/, หนังสือพิมพ์มติชน โดย รศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์  ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์