โรคฮีน็อค...ในเด็ก

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ เผยโรคฮีน๊อคเป็นกลุ่มอาการของการอักเสบของเส้นเลือดฝอย เป็นโรคที่มักพบในเด็กอายุประมาณ 2-11 ปี การเกิดโรคสันนิษฐานว่าอาจเกิดตามหลังการติด เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือยา ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด และไม่ใช่โรคติดต่อ

 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาพบเด็กป่วยเป็นโรคฮีน๊อค และมีการเผยแพร่ผ่านทาง Socail นั้น ในทางการแพทย์โรคฮีน๊อคไม่ใช่โรคติดต่อ อาการของโรคมักเริ่มจากผื่นแดง ไม่คัน เริ่มบริเวณขาทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน อาการร่วมอย่างอื่น ได้แก่ ปวดข้อเท้า ผิวหนังบวมบริเวณที่มีผื่น โรคฮีน๊อค เป็นกลุ่มอาการแสดงของเส้นเลือดฝอยอักเสบ ซึ่งนอกจากเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังแล้ว อวัยวะภายในที่มักได้รับผลกระทบได้แก่ ทางเดินอาหาร ซึ่งผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้อง หรืออาจจะเป็นมากถึงมีอาการถ่ายเป็นเลือดและไต ซึ่งอาจทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีโปรตีนรั่วออกทางปัสสาวะได้

 

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขั้นตอนการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค หากมีเพียงผื่นผิวหนัง การรักษาหลักคือการนอนพักและงดกิจกรรม เช่น เดินมาก หรือวิ่ง กระโดด เป็นต้น หากมีอาการทางระบบอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง หรือปัสสาวะผิดปกติ ต้องรักษาแบบคนไข้ใน โดยให้ยาลดการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ระยะสั้น เพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือด

 

สำหรับการป้องกัน เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด จึงไม่มีวิธีป้องกัน ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตหากลูกมีผื่นแดงลักษณะดังกล่าวและเป็นมากขึ้นหรือมีอาการต้องสงสัยควรรีบพบแพทย์ เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเป็นปกติ แต่มีบางส่วนที่อาการโรคกลับเป็นซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค และการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับ การแนะนำว่าในช่วงแรกที่มีอาการต้องให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงกิจกรรมเดินมากหรือวิ่ง และมีการติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่องเป็นปี เพื่อผลการรักษาที่ดีและลดการเป็นซ้ำของโรค

 

แหล่งที่มาอ้างอิง: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์

https://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=107792