กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก

          กรมควบคุมโรค เผยแพร่พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 209 "เตือนประชาชนระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากหลายพื้นที่ยังมีฝนตกจาก พายุฤดูร้อน อาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย สาเหตุของโรคไข้เลือดออก"


          จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2562 (วันที่ 1 ม.ค. – 29 เม.ย. 62๗ มีผู้ป่วยรวม 18,105 ราย เสียชีวิต 24 ราย ผู้ป่วยเพิ่มจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน 8,175 ราย (ปี 2561 มี 9,930 ราย) และเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 1,470 ราย


          จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สมุทรสาคร นครปฐม ลพบุรี ตราด และราชบุรี กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 15 - 24 ปี และจากการตรวจสอบข่าวการระบาดพบว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก 5 ราย ในจังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ระนอง นครศรีธรรมราช และกำแพงเพชร


          การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายพื้นที่ยังมีฝนตกจากพายุฤดูร้อน และใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน อาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย


          โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ อาการที่พบส่วนใหญ่มักมีไข้สูงลอย 2 – 5 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน อาจมีอาการไอแต่ไม่มีน้ำมูก มีจุดเลือดออกตามตัว เลือดออกตามไรฟัน หลังไข้ลดแล้วมีอาการซึม อาจเข้าสู่ภาวะช็อค ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด ภาวะติดสุรา ธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นต้น


          การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วย มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์ 2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย


แหล่งที่มาอ้างอิง: https://ddc.moph.go.th/th/site/newsview/view/5722